การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำทีมกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และผู้ควบคุมงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 แถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานในการแถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- กทท. 47%
- เอกชน 53%
โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี
ทั้งนี้เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ ตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี
รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี
แนวทางดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14% ของ GDP เหลือ 12% ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000ล้านบาท
นอกจากนี้เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับการลงทุนของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1. งานก่อสร้างทางทะเล
2. งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค
3.งานก่อสร้างระบบรถไฟ
4. งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือ และระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง
กทท.ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างทางทะเล ร่วมกับกิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วย
- บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน)
- บริษัท นทลิน จำกัด
- บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน)
กทท.ได้แจ้งให้กิจการร่วมค้าฯ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 พ.ค. 2568 รวม 1,460 วัน
โดยอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกผู้ชำนาญการ
รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้การก่อสร้างไม่สามารถเป็นไปตามแผนการทำงานเดิมและเกิดความล่าช้า
ที่มา<<<https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1098848