การเคลื่อนย้าย “ชาวจีนยุคใหม่” อาศัยอยู่จังหวัดตามแนวชายแดนไทย ใกล้กับประเทศจีน ในพื้นที่ “ภาคเหนือ” และ “ภาคอีสาน” มีบางส่วนกระจัดกระจายอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นอย่างมากมายกว่าอดีต และมีลักษณะแตกต่างจาก “ชาวจีนโพ้นทะเล” เข้ามาช่วง “รัตนโกสินทร์”
ความน่าสนใจในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนย้ายรูปแบบของ “นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่” มุ่งมาลงทุนเป็นหลัก มีลักษณะตัวแทนการนำเข้า และส่งออกสินค้า ระหว่างสองประเทศนี้ เสมือนเป็น “นายด่านประตู” ทางการค้าชายแดนระหว่างไทย-จีน คอยทำหน้าที่ในการระบายสินค้าจีน เข้าสู่ใจกลางเมืองหลวง และระดับภูมิภาค เข้าสู่ “ประตูอาเซียน” ผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น
ปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายคนจีนยุคใหม่ในรูปแบบนักธุรกิจนี้ ดร.อภิราดี จันทร์แสง รองคณบดีฝ่ายบริหารและกิจการต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า ในยุคแรกๆ ของกลุ่มคนจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล ที่เข้ามาค้าขายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้ามาในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14-18 ที่เรียกกันว่า “การค้าขายทางทะเล”
ถัดมาก็มี “กลุ่มชาวจีนตอนใต้” เดินทางเลาะและข้ามสันเขามาทำการค้าขายในพื้นที่ ใน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน และกระจายมาตามแนวชายแดนในพื้นที่ริมน้ำโขง สปป.ลาว ด้วยความที่ประเทศจีนและ สปป.ลาว มีพันธสัญญาในกลุ่มอินโดจีน ผสมความเป็น “สังคมนิยม” ทำให้มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันมาตลอด นับแต่นั้น “สินค้าจีน” นำเข้ามายังประเทศไทย ต้องผ่าน สปป.ลาว เข้ามาทางสะพานมิตรภาพ ไทย-สปป.ลาว เพราะเส้นทางนี้มีภาษีถูกกว่าพื้นที่อื่น
กระทั่งมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนที่ต้องปฏิรูปการเกษตร การเปิดเสรีภาคเอกชน การทำให้อุตสาหกรรมทันสมัย และทำการค้ากับต่างประเทศ ด้วยการกระจายสินค้าการส่งออกแบ่งเป็น 3 เกรด คือ เกรดเอ ส่งออกประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และเกรดบี ซี มุ่งส่งออกมายังฝั่งประเทศติดกับตอนใต้ของจีน ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคม เชื่อมการค้าการลงทุน 4 ประเทศ ได้แก่ จีนตอนใต้ ลาว เมียนมา และสิ้นสุดที่ประเทศไทยถูกใช้เป็น “ศูนย์กลาง ด่านประตู” กระจายสินค้าทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน สิ่งสำคัญที่น่าสนใจว่าพื้นที่ความเป็นชายแดนกลับไม่ได้มีลักษณะเป็นชายแดนอีกต่อไป กลายเป็นชุมทางกระจายสินค้าที่มาจากประเทศจีนไปแล้ว
ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ดร.อภิราดี มองว่า ประเทศจีนมีแผนใช้ภาคอีสานตอนบน “ตั้งยุทธศาสตร์” กลายเป็น “ชุมทางคลังสินค้าขนาดใหญ่” แหล่งกระจายสินค้ามีเป้าหมายเจาะ 3 หัวเมืองหลัก คือ หัวเมืองหลักที่หนึ่ง “ขอนแก่น” รัฐบาลจีนพยายามสร้างเครือข่ายผูก “เมืองพี่ เมืองน้อง” จากลักษณะประเพณี และวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงรัฐบาลจีนมองลึกกว่านั้น มีความหวังเชื่อมโยงนำความเป็นเมืองพี่เมืองน้องขยายสู่อีกหลายเมืองของภาคอีสาน เสมือนลักษณะ “ใยแมงมุม” เพราะความคล้ายคลึงของจังหวัดในอีสานตอนบน ทั้ง จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม หนองคาย มุกดาหาร มีความเป็นพี่น้องมาตั้งแต่ครั้งอดีตอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าหากสร้างความสัมพันธ์ความเป็นพี่เป็นน้องกับเมืองขอนแก่นได้ ก็สามารถเจาะยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์อีก 5 เมืองของภาคอีสานตอนบนได้เช่นกัน
กลับมาที่หัวเมืองหลักที่สอง “อุดรธานี” ที่มีศักยภาพสูงของการกระจายสินค้า เพราะมีระบบคมนาคม ความสะดวก ทั้งเส้นทางถนนหลวง สนามบิน รถไฟ และสุดท้าย คือ หัวเมืองหลักที่สาม “มุกดาหาร” ใช้เป็น “ด่านระบบโลจิสติกส์” และ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่รัฐบาลไทยมีแผนสนับสนุนลงทุนในเร็ววันนี้ น่าสังเกตว่าในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ตามแนวชายแดนไทย ตั้งแต่ภาคเหนือยาวมาถึงภาคอีสานดูเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหว แต่ใน “คลื่นใต้น้ำ” กลับมีการเคลื่อนย้าย “ชาวจีนรุ่นใหม่” ส่วนใหญ่เป็น “นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่” เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ที่มี “คนจีนรุ่นใหม่” เข้ามาประกอบกิจการในการกระจายสินค้ามากมาย เช่น ด่านประตู จ.มุกดาหาร มีภูมิศาสตร์ใกล้กับมณฑลกวางซี มีนักลงทุนจีนใช้เป็นพื้นที่กระจายสินค้า ประเภทผัก ผลไม้ใน จ.อุดรธานี ตลาดโบ๊เบ๊ ถูกใช้เป็นพื้นที่กระจายสินค้า ประเภทผ้าม่าน
ต้องเข้าใจว่ามุมมองรัฐบาลจีน ตั้งเป้าหมายแผ่ขยายฐานเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะกำลังเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เรื่องส่งออก มีความเสี่ยงเงินเฟ้อ จากความต้องการซื้อสินค้าและความต้องการขายสินค้า ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีผลมาจากการผลิตสินค้ามาก ต้องมีช่องทางกระจายสินค้าออก จากนั้นมีนโยบายสนับสนุนนักธุรกิจหน้าใหม่ หรือบุคคลจบการศึกษาระดับปริญญาตรีใหม่ เปิดให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำในการประกอบธุรกิจนอกประเทศ มีเงื่อนไขว่าต้องนำสินค้าของจีนส่งออกเท่านั้น ความเป็นจริงในวันนี้ปัจจุบันมีกลุ่มนักธุรกิจจีนหน้าใหม่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.มุกดาหาร จ.หนองคาย จ.นครพนม ตามลำดับ
“กลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้มักอยู่ในการคุ้มครองของสถานกงสุลจีนประจำประเทศไทย และมีการแบ่งพื้นที่ประกอบกิจการ และเช่าอาคารที่พักร่วมเป็นกลุ่มใหญ่ ที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนท้องถิ่น ทำให้เงินรายได้ถูกนำกลับไปประเทศจีนเป็นหลัก มีรายได้ส่วนน้อยลงสู่ท้องถิ่นบ้าง” ดร.อภิราดี ว่า “เคยมีกรณีนักธุรกิจจีนใน จ.อุดรธานี จำหน่ายกระเป๋าละเมิดลิขสิทธิ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่เข้ามาเคลียร์ทันที” หากมองถึงสาเหตุ…ที่รัฐบาลจีนมีเป้ามาบ้านเราในการ “ตั้งยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางกระจายสินค้าของจีน” เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศ เป็นศูนย์ กลางอาเซียน และมียุทธศาสตร์ติดกับแม่น้ำโขง ในช่องทางขนส่งสินค้าราคาถูกที่สุด ประกอบกับประเทศไทยมีความต้องการสินค้าจีนที่มีราคาถูกกว่าสินค้าของบ้านตัวเอง
แต่ที่น่าจับตาต่อ “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC” ก็มองข้ามนักธุรกิจจีนไม่ได้ ที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่าครึ่งของทุกเขต เพราะรัฐบาลไทยเชื้อเชิญเข้ามาลงทุนครั้งนี้ให้เกิดการเช่าพื้นที่มีรายได้ และในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างประเทศ เช่น สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็ล้วนมีนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนเช่นกัน อีกทั้งความเชื่อมโยงกับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการผนึกกำลังส่งเสริมขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และการจ้างงาน ในไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเรา คือ ต่างคิดว่าตัวเองจะได้ผลประโยชน์ มีแต่ตั้งรับไม่มีเชิงรุก ผลสุดท้ายประเทศจีนกลับรับผลประโยชน์มากสุด เพราะประเทศจีนต้องการระบายสินค้าเกรดต่ำ มีต้นทุนราคาถูกกว่าสินค้าไทย ยกตัวอย่างเช่น กระเทียมไทย 92 บาทต่อ กก. แต่กระเทียมจีน 45 บาทต่อ กก. ทำให้สินค้าไทยส่งไปจีนไม่เป็นที่ต้องการ ยกเว้นส่งออกข้าว ที่ประเทศจีนมีความต้องการสูง
ย้อนมามอง “เรื่องความมั่นคง” จากการส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-จีน มีการลงทุนสร้างถนนหนทาง สร้างสถานีรถไฟจากประเทศจีนผ่านประเทศไทย สิ้นสุดที่สถานีมาเลเซีย ในอนาคต ความเป็นพรมแดนจะถูกทำลายลง สามารถข้ามพรมแดนด้วยรถไฟ แบบไม่สามารถควบคุมเก็บภาษีได้ หรือควบคุมสภาวะความมั่นคง ทั้งโรคติดต่อ ยาเสพติด หรือบุคคลหลบหนีเข้าเมือง กลายเป็นช่องทางเคลื่อนย้ายคนจีนหรือสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้น ต้องหันกลับมาถาม “รัฐบาล” ว่า เตรียมตั้งรับปัญหานี้อย่างไร? ไม่ใช่คิดแค่ต้องการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นเท่านั้น แต่เรื่อง “ความมั่นคง” ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ที่มา: Thairath