นักวิจัยจากวิศวะ ม.มหิดล ต่อยอด 3 นวัตกรรมช่วยรับมือไวรัสโคโรน่า ทั้งหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และระบบเอไอช่วยคัดกรองข่าวปลอม
เมื่อวันที่ 11ก.พ. ที่มหวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการคิดค้น 3 นวัตกรรมรับมือไวรัสโคโรน่า โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังแพร่ในประเทศจีนและอีก 27 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวมหาศาล
เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทย ร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤติในภาวะเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรน่านี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้คิดค้น 3 นวัตกรรมที่พร้อมช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับมือไวรัสโคโรน่า รวมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ ประกอบด้วย หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ หรือ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี และระบบเอไอ คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา
สำหรับหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้มีพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นด้านระบบเทเลเมดดิซีนหรือโทรเวช (Telemedecine) เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในภาวะวิกฤติไวรัสโคโร
ทีมวิจัยจึงนำมาต่อยอดเป็นหุ่นยนต์ แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคในเวอร์ชั่นล่าสุด ที่ช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยแพทย์สามารถให้คำปรึกษากับคนไข้ผ่านตัวหุ่นยนต์ และช่วยในการลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล เช่น วัดชีพจร วัดความดันเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ส่วนกลางของตัวหุ่นยนต์ออกแบบเป็นช่องเก็บของ ช่วยลำเลียงยาและวัสดุไปยังคนไข้ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยหุ่นยนต์สามารถที่จะทำงานร่วมกัน หลายตัวได้
ปัจจุบันหุ่นยนต์ในเวอร์ชั่นเดิมได้มีการทดสอบใช้งานจริงในโรงพยาบาลในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นอยู่ระหว่างการทดสอบใช้งานคาดว่าจะนำร่องไปใช้งานที่รพ.รามาธิบดีและรพ.ศิริราขได้เร็ว ๆ นี้
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี ทีมวิจัยได้ทำร่วมกับสำนักวิจัยฯ ของกองทัพอากาศ โดยเป็นถุงสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้อากาศด้านในไหลสู่ด้านนอกเพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนในถุงไปสู่ภายนอกถุง ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถที่จะรองรับการใช้งานได้ทันที เพราะผลิตได้อย่างรวดเร็ว
ด้านดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่า กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว ทำร่วมกับผศ.ดร.นริศ หนูหอม และ ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ทั้งนี้ในภาวะที่มีวิกฤติการแพร่ระบาด หรือ วิกฤติฉุกเฉินต่าง ๆ จะมี สื่อต่างๆ โดยเฉพาะ โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) นำเสนอข่าวที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดการตื่นกลัวและวิตกกันเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากบทความและข่าวสารบนโลกโซเชียลนั้นมีความหลากหลายทั้งเรื่องของเนื้อหา สาระ และความถูกต้อง และมีทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ความคิดเห็นส่วนตัว และข่าวปลอม (Fake News) แม้จะมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถยับยั้งข่าวปลอมที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ไปอย่างรวดเร็วได้
“ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นนวัตกรรม ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 คาดจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอตรวจจับข่าวปลอม ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบข่าวสารที่แชร์บนโลกออนไลน์ และเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ทั้งนี้ปัจจุบันการตรวจสอบดังกล่าวสามารถใช้งานได้กับข้อความ อนาคตจะพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถตรวจสอบได้ทั้งภาพประกอบข้อความรวมถึงคลิปวิดีโอต่าง ๆ ได้อีกด้วย”
ที่มา : dailynews.co.th