หมัดต่อหมัด เทควอร์ “Apple-Google VS Huawei” ใครแผลเยอะกว่ากัน

เปิดฉาก “สงครามเทคโนโลยี” อย่างเป็นทางการ ที่คราวนี้ไม่ได้กระทบแค่สหรัฐฯ หรือจีน แต่กระทบกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของ 2 ประเทศนี้กันทั่วโลก นอกจากต้องหวาดระแวงราคาใหม่ที่อาจเพิ่มขึ้นพุ่งพรวด ยังต้องมาห่วงอีกว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะสามารถไปต่อได้หรือไม่ ใครจะแผลเยอะกว่ากัน งานนี้ต้องเทียบกันหมัดต่อหมัด

สหรัฐฯ ลั่นระฆังกลองรบ ด้วย “ภาษี”
แม้สหรัฐฯ จะยังไม่ประกาศใช้ภาษีนำเข้าอัตรา 5-25% สำหรับสินค้าจากจีน ประเภทมือถือและแล็ปท็อป เนื่องจากต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 นี้ก่อน แต่ก็สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันล่วงหน้าแล้ว ที่หากดูเผิน ๆ เป้าหมายภาษีจะอยู่ที่ “จีน” แต่ผลกระทบกับกระเด้งมาโดน “สหรัฐฯ” เองซะอย่างนั้น หากสงสัยว่า ทำไม? สหรัฐฯ ถึงเจ็บก่อน คำตอบนั่นก็คือ บริษัทสัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งการผลิตนั้นไม่ได้มีการประกอบจนสมบูรณ์ แต่ต้องมีการนำเข้าไปในสหรัฐฯ เพื่อประกอบส่วนสำคัญอย่าง “ไมโครชิพ” ซึ่งคนเจ็บคนแรก คงหนีไม่พ้น “แอปเปิล” (Apple)

การนำเข้าที่ต้องแบกภาระภาษีอันหนักอึ้ง ทำให้ต้นทุน “แอปเปิล” เพิ่มสูง 2-3% และดันให้ไอโฟน (iPhone) ราคาขายแพงขึ้นอีก 14% ถ้ารุ่นใหม่ออกมาก็เฉียด 7 หมื่นบาทเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน “หัวเว่ย” (Huawei) เป็นฝ่ายนำเข้าไมโครชิพและชิ้นส่วนแบบพิเศษเพื่อใช้กับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ จากบริษัทสัญชาติอเมริกัน อาทิ Qualcomm , Intel และ Broadcom ฯลฯ มูลค่าเฉียด 7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งการปรับราคาขายตัวท็อปแต่ละรุ่นของ “หัวเว่ย” เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ถ้าสมาร์ทโฟนตัวท็อปรุ่นปัจจุบัน (P30 Pro) ราคาอยู่ที่ 31,990 บาท รุ่นต่อไปก็จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 35,990 บาท ถูกกว่าไอโฟนกว่าครึ่งแล้วราคามีผลต่อการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน? ก็ต้องบอกว่า “มี” สำหรับสาวกไอโฟนแล้ว คงไม่กระทบอะไรมากนัก เพราะต่อให้ราคาสูง ก็ยังยึดมั่นอยู่กับไอโฟน แม้ช่วงหลังจะเปลี่ยนรุ่นช้าลง เพราะระยะเวลาการใช้งานนานขึ้น แต่อย่างใน “อินเดีย” เพราะราคาไอโฟนที่แพงมาก ๆ นี่ล่ะ เลยทำให้คนไม่นิยมใช้ แต่หันไปเลือกใช้สมาร์ทโฟนของจีนแทน ซึ่งถูกกว่า ยี่ห้อยอดฮิตก็หนีไม่พ้น “เสี่ยวมี่” (Xiaomi) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 30.6% ของทั้งหมด ส่วน “แอปเปิล” มีเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่ ส่วนแบ่งทางการตลาดของทั่วโลก “หัวเว่ย” ก็สามารถเบียดแซง “แอปเปิล” กลับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้อีกครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 19.0% ส่วน “แอปเปิล” นั้น คิดเป็นสัดส่วน 11.7% แต่สำหรับรายได้นั้น “แอปเปิล” ยังคงมากกว่า “หัวเว่ย” กว่าเท่าตัว โดยรายได้ปี 2561 “แอปเปิล” อยู่ที่ 2.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือ 8.5 ล้านล้านบาท ด้าน “หัวเว่ย” อยู่ที่ 7.2 แสนล้านหยวน หรือ 3.3 ล้านล้านบาท

สหรัฐฯ สั่ง “แบนหัวเว่ย” ภัยคุกคามความมั่นคง
“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สาดคำว่า “ภัยคุกคาม” “ภัยร้าย” “สายลับ” “จารกรรมเทคโนโลยี” ใส่ “หัวเว่ย” มาตั้งแต่ปี 2561 และช่วงเดือนเมษายน 2561 สหรัฐฯ ก็เริ่มดำเนินการสอบสวน “หัวเว่ย” โดยอ้างว่า มีการฝ่าฝืนข้อตกลงในการติดต่อทำธุรกิจกับอิหร่าน ก่อนที่ต่อมาจะยิ่งเพิ่มความร้าวฉานมากขึ้นอีก เมื่อมีการจับกุม “เหม่ง หวันโจว” CFO หัวเว่ยและเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย จากความสงสัย การกล่าวหา ลามมาสู่การจับกุม และมาถึงการสั่งห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารและติดต่อธุรกิจกับองค์กรที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “ห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ย” นั่นเอง จากฤทธิ์เดชนี้ของ “ทรัมป์” ก็ส่งผลกระทบสะท้อนกลับไปยังบริษัทสัญชาติอเมริกันอีกเช่นเดิม แม้ “กูเกิล” (Google) จะออกมารับลูกคำสั่ง “ทรัมป์” ด้วยการตัดสัมพันธ์กับ “หัวเว่ย” และส่งผลให้สมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้อีก หรือแม้แต่แอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง “ยูทูบ” (YouTube) ก็ใช้ไม่ได้ เว้นแต่ส่วนที่เป็น “โอเพนซอร์ส” เท่านั้นที่ยังใช้ได้เหมือนเดิม

ในรอบนี้ “หัวเว่ย” ไม่ได้ปราศจากแผลซะทีเดียว เพราะการที่ไม่สามารถใช้ “แอนดรอยด์” ได้ ก็จะทำให้คนที่ชื่นชอบระบบปฏิบัติการนี้หนีหาย ยอดขายก็อาจชะลอตัวลง แม้ “หัวเว่ย” จะออกมาย้ำหนักแน่นว่า “สมาร์ทโฟนที่จำหน่ายออกไปแล้วและรอการจำหน่ายในสต็อกทั่วโลก ยังคงมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ รวมถึงความปลอดภัยและบริการหลังการขายเหมือนเดิม” ก็ยังไม่ได้ทำให้คนเบาใจเท่าใดนัก … แต่ต่อให้ยอดขาย “หัวเว่ย” ไม่ได้เท่าเดิม จีนก็ยังมีสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นอีกที่ไม่ได้ถูกแบน ฉะนั้นแล้ว “เงินก็ยังเข้ากระเป๋าจีนอยู่” แถม “หัวเว่ย” ยังมองว่า “เล็กน้อย” เพราะเตรียมซุ่มพัฒนาชิพเซ็ตมาเป็นปี ๆ แล้ว แถมตลาดสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมากมายสำหรับ “หัวเว่ย” คิดเป็นสัดส่วน 6.6% ของตลาดทั่วโลกเท่านั้น และแอนดรอยด์แบบโอเพนซอร์สก็ยังใช้ได้ปกติ รายได้หลักจากนอกประเทศก็ไม่ได้มีแค่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว แต่ยังมีการทำสถานีฐานและเทคโนโลยี 5G อีก ซึ่ง “หัวเว่ย” ขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านนี้ไปแล้ว เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2562 “หัวเว่ย” มีการลงนามสัญญาทดสอบ 5G เชิงพาณิชย์ทั่วโลกแล้วกว่า 40 ฉบับ และยังส่งสถานีฐานทั่วโลกถึง 70,000 ชุด

กลับมาฟากสหรัฐฯ การแบน “หัวเว่ย” ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อบริษัทสัญชาติอเมริกันพอสมควร เพราะต้องสูญเสียรายได้จากลูกค้ารายใหญ่อย่าง “หัวเว่ย” ซึ่ง “กูเกิล” เอง ต้องออกมาประกาศตัดสัมพันธ์ทั้งที่มีแผลเลือดซิบ ๆ เพราะการแข่งขันในปัจจุบัน คู่แข่งของ “กูเกิล” นั้นมีมากเหลือเกิน แค่สูญเสียตลาดใหญ่อย่างจีนไปก็เจ็บปวดแล้ว แถมตลาดโฆษณายังลดลง ฉะนั้น การเสียตลาด “หัวเว่ย” ก็เท่ากับเสียผู้ใช้ไม่รู้กี่ล้านคน หากจีนสามารถผลิตไมโครชิพได้เองและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียม iOS หรือ แอนดรอยด์ การที่จีนจะหวนกลับมาซื้อไมโครชิพจากสหรัฐฯ คงยาก “จีนสะเทือนบ้าง แต่ไม่มาก เพราะมีการตั้ง บริษัท HISILICON มาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว เพื่อทำการวิจัยคอมพิวเตอร์ชิพ หัวเว่ยบอกเลยว่า “ทำชิพได้” แต่ที่มีการนำเข้ามาก็เพื่อต้องการโกอินเตอร์ หัวเว่ยมีซัพพลายเออร์กว่า 13,000 ราย เขาต้องการสร้างความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งในระยะยาว จีนมองเห็นว่า ยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ได้แล้ว” – รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

หุ้นซัพพลายเออร์ “หัวเว่ย” ร่วงระนาว
หลังรัฐบาลสหรัฐฯ มีประกาศสั่งห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับ “หัวเว่ย” ก็ส่งผลกระทบทันทีต่อหุ้นของบรรดากลุ่มซัพพลายเออร์ของ “หัวเว่ย” ที่ต่างพากันร่วงระนาว อาทิ Qualcomm ร่วง 6% , Intel ร่วง 3% , Broadcom ร่วง 6% และ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “กูเกิล” ก็ร่วง 2.1% หรือแม้แต่ “แอปเปิล” เองก็ร่วง 3.1% ด้วยเช่นกัน แต่เพียงแค่หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรการแบนหัวเว่ยออกไปก่อน 90 วัน หรือจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นั้น ดัชนี NASDAQ ก็ปรับเพิ่มขึ้น 1.08% รวมถึงบรรดาหุ้นซัพพลายเออร์ของหัวเว่ยด้วย โดย Intel เพิ่มขึ้น 2.07% , Qualcomm เพิ่มขึ้น 1.47% และ Alphabet เพิ่มขึ้น 0.95%

แล้ว “หัวเว่ย” ล่ะ ไม่มีผลกระทบจากกรณีหรือ?
“ข้อสำคัญ หัวเว่ยไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ไม่ต้องกังวลเรื่องหุ้น ไม่เหมือนกับกูเกิล ผลประกอบการใน NASDAQ สูงมาก ฟองสบู่มาเป็นปี ๆ แล้ว โอกาสที่จะเกิดการลดลงของหุ้นก็มีอยู่สูง เสี่ยงเกิดวิกฤติการณ์ดอทคอม รอบ 2 ฉะนั้น กูเกิลเจอปัญหา 2 ต่อ 1.ปัญหาหุ้นร่วง 2.ปัญหาผลประกอบการลดลง” – รศ.ดร.สมภพ

เมื่อ “สี จิ้นผิง” ออนทัวร์ หลัง “ทรัมป์” ฟันดาบใส่ “บริษัทจีน”
“สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ออนทัวร์ภายในประเทศเป็นครั้งแรกนับแต่ลั่นกลองรบ “สงครามการค้า” การลงพื้นที่ในครั้งนี้ หากมองว่า ธรรมดา ก็ดูจะไม่ธรรมดา เพราะเต็มไปด้วยนัยยะ แม้จะไม่มีการเอ่ยชื่อเสียงเรียงนาม “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเลยก็ตาม

“เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง!”
การเลือกพื้นที่ออนทัวร์อย่าง “มณฑลเจียงซี” นั้นชัดเจนแล้วว่า “สี จิ้นผิง” ต้องการสื่ออะไร “พวกเราอยู่ที่นี่ จุดเริ่มต้นของการเดินทัพทางไกล (ลองมาร์ช หรือ Long March) เพื่อระลึกเมื่อครั้งกองทัพแดงเริ่มออกเดินทาง ขณะนี้ เรากำลังเตรียมการเดินทัพทางไกลครั้งใหม่ และเราต้องเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง!” – สี จิ้นผิง

ที่บอกว่า “มณฑลเจียงซี” คือ สัญลักษณ์ที่ “สี จิ้นผิง” ต้องการสื่อ นั่นก็เพราะว่า การเดินทัพครั้งสำคัญของกองทัพแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (“สี จิ้นผิง” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค) เมื่อปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ได้เริ่มต้นจากมณฑลเจียงซี ก่อนจะใช้เวลาเดินทางอีกกว่า 370 วัน รวมระยะทางประมาณ 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย แต่ก็สามารถไปถึงจุดหมายได้แม้จำนวนคนจะเหลือน้อย สัญญาณดังกล่าว บอกเป็นนัยกับประชาชนจีนแล้วว่า “ต้องเตรียมพร้อมรับมือสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” เหมือนดั่งการเดินทัพทางไกล หากเทียบบาดแผลจาก “สงครามเทคโนโลยี” ตอนนี้ ฝั่งจีนอาจจะต้องเจ็บในระยะเริ่มต้น ส่วนฝั่งสหรัฐฯ ในระยะยาวมีแวว “เสียเปรียบ” กว่าเห็น ๆ

ที่มา: Thairath

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here