เอกชนชี้ส่งออกไตรมาส 4 โตเด่น 9% ขณะที่ทั้งปี‘สรท.’หั่นคาดการณ์ติดลบ1%

สรท. เผย ส่งออกไทยเผชิญปัจจัยลบ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เอลนีโญ ปรับเป้าส่งออกทั้งปี2566 ติดลบ 1 % ขณะไตรมาส 4 คาดเติบโตเด่น ถึง9%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกแล้วจะเห็นว่าการส่งออกของไทยนั้นปรับตัวลดลงน้อยกว่า และการส่งออกของไทยในปีนี้คงไม่เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แม้จะมีความพยายามที่จะผลักดันก็ตาม

ทั้งนี้ จากการประเมินในเบื้องต้น สรท.จึงปรับเป้าส่งออกในปี 2566 จาก -0.5% ถึง 1% มาเป็น -1% ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์เป็นรายเดือน เมื่อถึงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 จึงจะสามารถประเมินเป้าหมายในปี 2567 ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกไตรมาส 4ปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ถึง 9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (yoy) มูลค่า 71.700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่างจากไตรมาส 3 ที่ติดลบ 3.1% มูลค่า 69,943 ล้านดอลลาร์  โดยสินค้าที่จะส่งออกได้โดดเด่นคือ ข้าวที่คาดว่าทั้งปี 2566 ขยายตัวถึง 20% น้ำตาลทราย ขยายตัว 15%  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 3-5% ยานยนต์ ขยายตัว 3% ส่วนอาหาร ขยายตัว 0-2%

เศรษฐกิจคู่ค้ายังน่าเป็นห่วง นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของปียังมีปัจจัยลบจากภายนอกมากมาย ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซียกับยูเครน จีนกับไต้หวัน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงมีอยู่เช่นเดิม ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เติบโตมากเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหาร ที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 20% ของการส่งออกทั้งหมด โดยต้องติดตามปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท

“เห็นแล้วว่าปัญหาเดิมยังไม่ทันจจะคลี่คลายก็มีปัญหาใหม่เข้ามาซ้ำเติม แต่ยังดีที่ค่าเงินบาทของไทยที่ 35.4 บาท ต่อดอลลาร์ จะช่วยประคับประคองการส่งออกในครึ่งปีหลังนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจคู่ค้าของเรา ไม่ว่าจะจีน สหรัฐและยุโรป ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงจับตาดูราคาน้ำมันในช่วงสิ้นปีที่ราคาอาจจะพุ่งขึ้น เนื่อง โอเปก (องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก) ลดกำลังการผลิตลง ขณะที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว และสุดท้ายต้องจับตาดูค่าเงินบาทด้วย”

หวังรัฐบาลใหม่ยกระดับขีดแข่งขันส่งออก นายชัยชาญ กล่าวว่า มี 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งให้รัฐบาลใหม่รีบทำทันที ได้แก่ การลดภาระเรื่องต้นทุน โดยเฉพาะค่าพลังงานต่าง ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้มีการแข่งขันภายนอกกันดุเดือดมากขึ้น เราจึงต้องการราคาที่สามารถไปแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นในตลาดโลก ดังนั้นการลดภาระต้นทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถทำได้ทันที ต่อมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการน้ำที่เราต้องวางแผนเชิงรับและรุกให้ชัดเจนเพื่อตอบโต้กับภัยแล้ง และสุดท้ายคือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม( SMEs) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ Supply Chain Financing

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อ “ยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ” ประกอบด้วย ลดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางการค้า พร้อมทั้งข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่สำคัญแยกตามประเด็นยุทธศาสตร์ 10 ด้าน อาทิ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เป็นต้น

แนะรัฐเร่งเจรจาเอฟทีเอเพิ่ม นอกจากนี้  ต้องการเสนอรัฐบาลใหม่ให้เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมาย อาทิ ส่งเสริมการส่งออกข้าวไทยในตลาดตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในตลาดจีน ส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และสหรัฐ ส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกยางพาราและยางล้อรถยนต์ ในตลาดจีนและกลุ่มประเทศ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership)สหภาพยุโรป และสหรัฐ

การเร่งเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ,การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อลดต้นทุนของผู้ส่งออกในการเข้าสู่ E-Commerce Platform หลักในประเทศ ,ผลักดันการจัดตั ง Global Fair-Trade Committee on Maritime Transport ภายใต้องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า การที่อินเดียจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล เป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งออกสินค้าสินค้าเกษตร แต่อย่างไรก็ตามไทยเองก็กำลังประสบภาวะแล้งหรือเอลนีโญจนอาจจะทำให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออก จึงคาดหวังว่า หลังจากที่เราได้รัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะลงมาช่วยดูแลและผลักดันสินค้าเกษตรไทย

ที่มา>>>https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1087097