5G ขายคล่อง 3 คลื่น 48 ใบอนุญาต กวาด 100,193 ล้านเข้ารัฐ

สรุป “กสทช.” จัดประมูล 5G รวม 3 คลื่น ขายออกทั้งหมด 48 ใบอนุญาต จาก 49 ใบอนุญาต รัฐรับเงิน 100,193 ล้านบาท

จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. กสทช.ได้สรุปข้อมูลการจัดประมูลคลื่นต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้ “คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์” มี 3 รายที่เข้าประมูล คือ เอไอเอส ทรู และ แคท มี 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เสนอราคารอบละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ทั้งนี้ มีการเสนอราคาทั้งหมด 20 รอบ จบที่ราคา 17,152 ล้านบาท รวม 3 ใบอนุญาตอยู่ที่ราคา 51,459 ล้านบาท 

“คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์”  มี 3 รายที่เข้าประมูล คือ เอไอเอส กลุ่มทรู และ แคท มีจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท โดยมีการเคาะเสนอราคาเพียง 2 รอบ อยู่ที่ราคา1,956 ล้านบาทต่อใบอนุญาต รวม 19 ใบอนุญาต อยู่ที่ราคา 37,164 ล้านบาท

สำหรับการชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในสมาร์ท ซิตี้ ภายใน 4 ปี

“คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์” มี 4 รายที่เข้าประมูล คือ เอไอเอส ดีแทค ทรู และทีโอที มีใบอนุญาตจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท โดยมีการเคาะเสนอราคาเพียงรอบเดียวอยู่ที่ราคา 445 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ขายออกไป 26 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 11,570 ล้านบาท เหลือ 1 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปี หลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต 

ทั้งนี้ เมื่อรวม 3 คลื่นความถี่ที่สำนักงาน กสทช. เปิดประมูล 49 ใบอนุญาต ขายออกทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 100,193 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานกสทช. จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อตรวจสอบและรับรองผลการประมูลวันที่ 19 ก.พ.2563 พร้อมชำระเงินงวดแรกทันที

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากปนะเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงช้าถือว่าถอยหลัง หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วคืออยู่กับที่ แต่หากจะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทันทีและอย่างรวดเร็วที่สุด สำนักงานกสทช. จะไม่ปล่อยให้โอกาสของประเทศไทยอยู่กับที่ ในทางตรงข้ามจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพลิกโฉมประเทศให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความล่าช้าด้าน 3G กว่าประเทศอื่น 8 ปี ส่วน 4G ล่าช้ากว่าประเทศอื่นประมาณ 4 ปี วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท

ที่มา : dailynews.co.th

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here