“ดูไบเวิล์ด”ลุยลงทุน“เวียดนาม”-สนร่วมโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ไทย

โลจิสติกส์ คือหัวใจสำคัญของการค้าและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เล่นที่มีความสำคัญต่อธุรกิจโลจิสติกส์โลกที่น่าจับตามองคือ DP World เป็นบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติ

ที่ตั้งอยู่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การบริการทางทะเล และเขตการค้าเสรี DP World ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ DP World เมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา เวบไซด์ DP World เผยแพร่ข่าวความร่วมมือกับ  VIMC Container Lines Joint Stock Company (VIMC Lines) ของเวียดนาม เปิดตัว Mekong Express เส้นทางขนส่งทางทะเล-แม่น้ำภายในประเทศเส้นทางใหม่ที่เชื่อมท่าเรือ Can Tho (Cai Cui) และ Cai Mep เพื่อบริการเรือบรรทุกสินค้าทางน้ำซึ่งจะช่วยลดเวลาการขนส่งทางน้ำจาก 48 ชั่วโมงเหลือเพียง 15 ชั่วโมง

“โดยใช้เส้นทางทั้งทางน้ำและทางทะเลผสมผสานกัน ซึ่งดีขึ้นถึง 70% ในขณะที่เส้นทางเดิมมีระยะทางประมาณ 367 กม. เส้นทางชายฝั่งทะเลสั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีความยาวประมาณ 200 กม. ทำให้เป็นเส้นทางที่รวดเร็วกว่า ยั่งยืนกว่า และคุ้มต้นทุนกว่าสำหรับเจ้าของสินค้าทั่วเวียดนาม”

จับมือเวียดนามพัฒนาท่าเรือตอนใต้

Mekong Express ออกแบบมาเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าแห้งและสินค้าแช่เย็น โดยสามารถขนส่งตู้สินค้าได้มากถึงหลายร้อย TEU ต่อเที่ยวการเดินทาง และสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นได้จำนวนมาก ความร่วมมือนี้มีแผนที่จะขยายเส้นทางให้บริการโดยจะเข้าเทียบท่าที่ Saigon Premier Container Terminal (SPCT) ซึ่งดำเนินการโดย DP World และเข้าเทียบท่าที่ Saigon Hiep Phuoc Port ภายใต้ Vietnam Maritime Corporation (VIMC)

สำหรับพื่้นที่ในเวียดนามใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูมิภาคเศรษฐกิจสำคัญในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (MDKER) และภูมิภาคเศรษฐกิจสำคัญทางใต้ (SKER) ได้กลายมาเป็นเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจการผลิตและการส่งออกของเวียดนาม การเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้ Mekong Express จะเสริมสร้างบทบาทของเวียดนามในเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทุ่มงบเสริมแกร่งท่าเรือฟิลิปปินส์ 

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ Manila South Harbour (MSH) ซึ่งเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศชั้นนำของฟิลิปปินส์ ได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานครั้งสำคัญ เนื่องจาก DP World และ Asian Terminals Inc. ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ได้ประกาศเสร็จสิ้นโครงการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าในระยะยาวสำหรับฟิลิปปินส์และระเบียงการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

DP World และ ATI ลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ในโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขยายท่าเทียบเรือ 3 ให้ยาวกว่า 600 เมตร การขยายลานจอดเพื่อรองรับตู้สินค้า 20,000 TEU การเพิ่มเครน Ship-to-Shore (STS) ใหม่ 2 ตัว และการจัดซื้ออุปกรณ์บนบกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สุลต่านอาเหม็ด บิน สุลาเยม ประธานและซีอีโอของ DP World Group กล่าวว่า DP World รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าที่สำคัญ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ATI ซึ่งเป็นพันธมิตรในพื้นที่ของเรา การลงทุนในท่าเรือและโลจิสติกส์ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับห่วงโซ่อุปทานและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่เรายึดมั่นใน DP World ในฐานะผู้สนับสนุนการค้าและผู้นำด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ

ยกระดับท่าเรืออัจฉริยะเติบโตแกร่ง

ในปี 2024 ATI จัดการตู้คอนเทนเนอร์รวมเกือบ 1.6 ล้าน TEU เพิ่มขึ้นกว่า 4% เมื่อเทียบกับปี 2023 ในจำนวนนี้ MSH จัดการตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 1.3 ล้าน TEU เพิ่มขึ้นเกือบ 8% เมื่อเทียบกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่จัดการในปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ

เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2025 MSH จัดการตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศมากกว่า 350,000 TEU เพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2024 ซึ่งบ่งบอกถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (10 มิ.ย.68) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมร่วมกับบริษัท Dubai Port World (DP World)โดยมีการหารือถึงความพร้อมการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือLandbridge (แลนด์บริดจ์)ซึ่งทาง DP World ยังคงแสดงความสนใจในการลงทุนโครงการนี้

DP Worldสนลงทุนแลนด์บริดจ์

พร้อมทั้งต้องการนัดมาหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับความพร้อมการพัฒนาโครงการอีกครั้ง จึงถือเป็นการยืนยันความมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งขณะนี้ทาง DP World ไม่ได้มีคำขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการร่วมลงทุน เพียงแต่อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลโครงการเพื่อประเมินวงเงินลงทุน และอาจจะมีการปรับรายละเอียดของแผนลงทุนแต่ละระยะ เพิ่มเติมจากเดิมที่ฝ่ายไทยศึกษาไว้

สำหรับผลการศึกษาของฝ่ายไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะประกอบด้วย

ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาทซึ่งจะพัฒนาท่าเรือเพียงบางส่วน ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งระนอง ก่อสร้างเพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้า ประมาณ 6 ล้าน TEU ท่าเรือฝั่งชุมพร รองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU และพัฒนาโครงการรถไฟพร้อมกับมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573

แผนระยะยาวมุ่งเติมศัยกภาพท่าเรือ

ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาทจะขยายขีดความสามารถท่าเรือ ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งระนอง ขยายรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU ท่าเรือฝั่งชุมพร ขยายรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU และก่อสร้างมอเตอร์เวย์เป็น 6 ช่องจราจร จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576

ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาทขยายขีดความสามารถท่าเรือ ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งระนอง ขยายรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU และท่าเรือฝั่งชุมพร ขยายรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578

ระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายขีดความสามารถท่าเรือในฝั่งท่าเรือชุมพร สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU พร้อมทั้งขยายโครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581

ที่มา<<<https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1185005

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here